เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจมีความกังวลใจอยู่ไม่น้อยเมื่อใกล้ถึงช่วงวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะใช้จ่ายหมดลงไปเมื่อไหร่ ฯลฯ แต่อันที่จริงแล้วทุกคนสามารถคลายความกังวลเหล่านี้ลงได้ เพียงศึกษาการเตรียมตนเองหลังวัยเกษียณให้พร้อม จะช่วยให้คุณสบายใจกับเรื่องในอนาคตได้อย่างดีเยี่ยม
3 เรื่องหลักสำหรับการเตรียมตัวหลังวัยเกษียณ
1. เตรียมใจให้พร้อม ❤
แน่นอนว่าในช่วงวัยทำงานเราได้พบปะผู้คน กลุ่มเพื่อน มีการนัดสังสรรค์มากมาย แต่เมื่อเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณ การเตรียมใจให้พร้อมถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ เพราะอย่างน้อย ๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านตลอดเวลา การเตรียมใจจึงมีหลายวิธี เช่น หากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำเพื่อให้จิตใจเปิดรับอะไรใหม่ ๆ ก่อนกษียณเพื่อที่พอเกษียณแล้วจะได้มีกิจกรรมทำอย่างสุขใจ หรือฝึกสมาธิทำจิตใจให้ผ่อนคลาย เป็นต้น
2. เตรียมร่างกายให้พร้อม 💪
อายุที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อวัยวะที่ใช้งานเริ่มถดถอยลง ซึ่งคนหลังวัยเกษียณที่ผ่านมาต้องใช้ร่างกายทำงานประจำอาจเกิดปัญหาสุขภาพได้ง่าย ๆ ดังนั้น จึงอยากแนะนำให้เตรียมร่างกายตนเอง หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำเยอะ ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยให้เกิดความแข็งแรง ชะลอความเสี่ยงป่วยด้วยโรคต่าง ๆ หรือหากเป็นไปได้แนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปีประจำ เผื่อว่าตนเองเป็นโรคใดโรคหนึ่งจะได้เข้ารับการตรวจรักษาได้ทันท่วงที โดยปัจจุบันคนไทยมีสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หรือสวัสดิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ประกันสังคม) สวัสดิการพนักงานท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อช่วยให้การตรวจรักษาเป็นไปอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ คุณสามารถตรวจสอบสิทธิ์ของตนเองด้วยการกรอกเลขประจำตัวประชาชน วัน/เดือน/ปีเกิด ผ่านเว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3. เตรียมเงินให้พร้อม 💲
เราต้องรู้ตัวเองด้วยว่าหลังเกษียณไปแล้วจะต้องใช้เงินดำรงชีพต่อไปอีกเท่าไหร่ ยกตัวอย่าง นาย A อยากมีเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 20,000 บาท ต่อปีเท่ากับ 240,000 บาท พร้อมคาดว่าน่าจะอยู่ต่อไปจนถึงอายุ 85 ปี แล้วหากเขาต้องเกษียณในวัย 60 ปี เท่ากับว่าเขาต้องใช้ชีวิตในวัยหลังเกษียณอีก 25 ปี ดังนั้น นาย A ต้องมีเงินพร้อมดำรงชีพต่อไปอีก 6,000,000 บาท หรือ 240,000 X 25 ปี นั่นเอง และอีกวิธีที่จะรู้ตัวเองว่าหลังวัยเกษียณมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ต้องใช้เงินกี่บาทก็คือการทำบันทึกรายรับ – รายจ่าย แยกประเภทที่ต้องใช้จ่าย โดยชีวิตช่วงอายุนี้มักมีความเปลี่ยนแปลงด้านค่าใช้จ่ายจึงควรบันทึกไว้อย่างชัดเจน
❗ แต่หากใครรู้ตัวว่าชีวิตหลังวัยเกษียณอาจมีปัญหาทางการเงิน แนะนำให้หาอาชีพเสริมทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เป็นที่ปรึกษาในอาชีพเดิมที่เคยทำมาก่อน หรือใช้งานอดิเรก 🏓แรงบันดาลใจต่าง ๆ มาพัฒนาเป็นอาชีพต่อไป เริ่มจากทดลองนิดหน่อยแล้วขยายเป็นผลกำไรก็ไม่มีปัญหา