เมื่ออายุล่วงเลยเข้าเลข 4 เลข 5 หลายคนก็เริ่มวางแผนช่วงบั้นปลายชีวิตหลังเกษียณกันแล้ว บางคนที่เตรียมตัวมาอย่างดี มีเงินเก็บมากพอที่จะไม่ลำบาก ไม่ว่าที่ไหนก็สามารถอยู่ได้ แต่สำหรับบางคนที่มีเงินเก็บจำนวนจำกัด อาจคิดไม่ตกว่า “มีเงินอยู่เท่านี้ แล้วฉันจะไปอยู่ที่ไหนดี? ถึงจะเพียงพอ หรือมีบ้านอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ แล้ว จะต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ในวัยเกษียณหลังจากไม่ได้ทำงาน” แม้จะอยู่ในไทยเหมือนเดิม แต่เพราะทุกจังหวัดมีค่าครองชีพที่ไม่เท่ากัน
ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนสามารถวางแผนชีวิตหลังเกษียณให้สอดคล้องและเพียงพอกับเงินที่มีอยู่มากที่สุด สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงได้ทำการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2562 รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของสมาชิกในครัวเรือน ตั้งแต่ค่าใช้จ่าย ลักษณะที่อยู่อาศัย สวัสดิการและความช่วยเหลือจากรัฐ จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 52,000 ครัวเรือน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า แต่ละภาคในประเทศไทย จังหวัดใดมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสูงสุดและต่ำสุด
#ปริมณฑล
จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด คือ “ปทุมธานี” เฉลี่ยต่อเดือน 37,086 บาท
จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด คือ “สมุทรปราการ” เฉลี่ยต่อเดือน 21,423 บาท
#ภาคกลาง
จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด คือ “สระบุรี” เฉลี่ยต่อเดือน 26,007 บาท
จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด คือ “สุพรรณบุรี” เฉลี่ยต่อเดือน 14,558 บาท
#ภาคเหนือ
จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด คือ “ลำพูน” เฉลี่ยต่อเดือน 19,115 บาท
จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด คือ “แม่ฮ่องสอน” เฉลี่ยต่อเดือน 11,243 บาท
#ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด คือ “บึงกาฬ” เฉลี่ยต่อเดือน 22,225 บาท
จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด คือ “กาฬสินธุ์” เฉลี่ยต่อเดือน 13,076 บาท
#ภาคใต้
จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด คือ “ภูเก็ต” เฉลี่ยต่อเดือน 32,763 บาท
จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด คือ “ยะลา” เฉลี่ยต่อเดือน 13,596 บาท
#จังหวัดกรุงเทพมหานคร
มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 31,753 บาท
จากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของแต่ละจังหวัดในภาคต่างๆ ข้างต้น นอกจากจะทำให้คนที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยเกษียณและมีเงินเก็บจำกัด สามารถวางแผนการใช้ชีวิตหลังจากไม่ได้ทำงานได้แล้ว ยังทำให้คนอื่น ๆ ที่ต้องการวางแผนอนาคตล่วงหน้า คำนวณได้ว่าถ้าอยากอยู่จังหวัดไหน ต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ รวมถึงสำหรับใครที่มีบ้านอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ แล้ว เมื่อเกษียณไม่ได้ทำงาน จำเป็นต้องมีเงินเก็บเท่าไหร่ถึงจะอยู่รอด ไม่ลำบากลูกหลาน เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็จะยิ่งทำให้สามารถวางแผนการเงินและชีวิตได้
ยกตัวอย่างเช่น คุณเกษียณตอนอายุ 60 ปี มีเงินเก็บอยู่ประมาณ 4,000,000 บาท อยากรู้ว่าถ้าต้องการไปอยู่จังหวัดนั้น ๆ จะอยู่ได้กี่ปี คำตอบคือ ถ้าคุณอยากอยู่กรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายเดือนละ 31,753 บาท จะอยู่ได้ประมาณ 10 ปี หรืออยากไปอยู่ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุดนั่นคือ “แม่ฮ่องสอน” 11,243 บาทต่อเดือน จะอยู่ได้ประมาณ 29 ปี
หรือ คุณต้องการเกษียณที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 31,753 บาทต่อเดือน แต่คุณเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงประมาณ 90 ปี เท่ากับเวลาหลังจากนั้น คือ 30 ปี หรือคิดเป็นเดือนจะอยู่ที่ 360 เดือน คุณก็จำเป็นต้องมีเงินเก็บที่ประมาณ 31,753 x 360 = 11,431,080 บาท
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของแต่ละจังหวัด สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทุกปี อาจจะต่ำกว่าเดิมหรือสูงกว่าเดิมก็ได้ เพราะฉะนั้น เพื่อให้วัยเกษียณของคุณ ไม่ลำบาก และพักผ่อนได้เต็มที่ คุณควรวางแผนเตรียมการไว้ดีๆ อย่าให้อิสรภาพทางการเงินกับตัวเองมากเกินไป เพียงเพราะคิดว่า อีกนานกว่าจะถึงวันนั้น ทำงาน ใช้เงิน ไปพร้อมๆ กับการเก็บเงินสม่ำเสมอ รับรองว่า เมื่อวันนั้นมาถึง คุณจะเป็นผู้ใหญ่วัยเกษียณที่น่าอิจฉาคนหนึ่งเลยทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจอายุน้อยร้อยล้าน https://web.facebook.com/Ryounoi100lan/photos/a.340037146041395/4011746205537119/
ที่มา : http://statbbi.nso.go.th/.../TH/report/sector_08_7_TH_.xlsx
https://www.setinvestnow.com/.../16-affordable-provinces